วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

จำลองมาจากชีวิตจริง

มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 เขียนเรื่องโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และมีรูปภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล



ประวัติ

ที่มาของแบบเรียน เริ่มจากที่กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าแบบเรียนภาษาไทย ชุดที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย จึงต้องการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยวางวัตถุประสงค์ให้นักเรียนอ่านแล้ว มีความรู้สึกสนุกสนาน เพื่อกระตุ้นให้อยากเรียนภาษาไทย แบบเรียนชุดนี้ ใช้เวลาเขียนอยู่นานกว่า 4 ปี มุ่งให้ความรู้ทางภาษาไทย ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน หลังจากนั้นจึงนำมาปรับปรุง และทดลองใช้เรียนจนแน่ใจว่า เนื้อหาที่นักเรียนประถมทั้งประเทศ ต้องอ่านเพื่อใช้ศึกษา เป็นเรื่องราวอันบริสุทธิ์ดีงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย โดยกำหนดจำนวนคำ ให้เรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ทั้งนี้ เมื่อแรกเผยแพร่ยังไม่มีชื่อ แต่รัชนีผู้เขียนเล่าว่า มีผู้เรียกอย่างลำลองว่า ตำนานเด็กดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกแบบเรียนชุดนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการของไทย อนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre; ชื่อย่อ: TLCC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งขอนำแบบเรียนชุดนี้ ไปใช้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน

อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557 องค์การค้าของ สกสค. ประกาศว่าจะตีพิมพ์แบบเรียนดังกล่าว เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป โดยรวมเนื้อหาเป็นชั้นปีละ 1 เล่ม จากเดิมที่แยกเป็นเล่ม 1 และเล่ม 2 ส่วนภาพประกอบนั้นวาดขึ้นใหม่ แต่ยังคงเนื้อหาตามเดิมทุกประการ ซึ่งจะเริ่มจัดจำหน่าย ที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันเป็นต้นไป

มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ



ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

เล่ม 1-2 รวม 40 บท มีคำใหม่ 450 คำ โดยเล่ม 1 นำคำที่สื่อความหมายได้ มาเรียงเป็นคำ ๆ ผสมคำจากพยัญชนะบางตัวและรูปสระง่าย ๆ เริ่มจาก แม่ ก กา จนมีตัวสะกดทั้ง 8 แม่ คำควบกล้ำ, อักษรนำ, สระ, เครื่องหมายไม้ยมก, รูปวรรณยุกต์ทั้ง 4 รูป และไม้ทัณฑฆาต คำต่าง ๆ นั้นผูกเป็นเรื่องราว มีตัวละครจำนวน 5 คน ได้แก่ มานะ, ปิติ, วีระ เด็กหญิง 2 คน ได้แก่ มานี, ชูใจ มีสัตว์เลี้ยงประจำตัวเด็ก เช่น มานี มานะ มีหมาชื่อ เจ้าโต, วีระ มีลิง ชื่อ เจ้าจ๋อ, ปิติ มีม้า ชื่อ เจ้าแก่ และชูใจ มีแมวชื่อ สีเทา




เล่ม 2 มีเนื้อหาสอดแทรกให้เด็กรู้จักรักสัตว์ รักเพื่อน รักธรรมชาติ รักษาความสะอาดในโรงเรียน ตลาด มารยาทสังคม เช่นการกล่าวสวัสดี ขอโทษ และการใช้หางเสียง เป็นต้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น